อัลบั้ม A Thousand Suns

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

ศิลปิน : Linkin Park
อัลบั้ม : A Thousand Suns
จำนวนเพลง : 15 เพลง
แนวเพลง : Rock
วันที่ออกจำหน่าย : 16 กันยายน 2553
สังกัด : Warner Music


อัลบั้มชุดที่ 4 ที่สมาชิกทั้ง 6 คนของ ลินคิน พาร์ก (Linkin Park) ยังคงอยู่ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น ได้แก่ นักร้องนำ เชสเตอร์ เบนนิงตัน (Chester Bennington) นักร้องนำ มือกีตาร์และคีย์บอร์ด ไมค์ ชิโนดะ (Mike Shinoda) มือกลอง ร็อบ บอร์ดอน (Rob Bourdon) มือกีตาร์ แบรด เดลสัน (Brad Delson) มือเบส เดฟ แฟร์เรลล์ (Dave Farrell) หรือ ฟีนิกซ์ (Phoenix) และเทิร์นเทเบิล โจ ฮาห์น (Joe Hahn) แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจากอัลบั้มที่ผ่านๆ มา คือการเพิ่มดนตรีอิเล็กทรอนิกเข้าไปในเพลงร็อกมากขึ้น

ทั้งวงร่วมกันแต่งเพลง และได้ ริก รูบิน (Rick Rubin) มาโปรดิวซ์ร่วมกับ ไมค์ โดยทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาก่อนแล้วในอัลบั้มที่วางจำหน่ายในปี 2007 อย่าง Minutes to Midnight พวกเขาเริ่มบันทึกเสียงกันตั้งแต่ปี 2008 แต่ด้วยความพยายามที่จะทำอัลบั้มที่ไม่ซ้ำกับผลงานเก่าๆ ที่เคยทำมา พวกเขาจึงใช้เวลานานถึง 2 ปีในการฟูมฟักอัลบั้มนี้ เดิม เชสเตอร์ พยายามแต่งเนื้อเพลงสัก 30 เพลงให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งกับรถจักรยานสีแดง แต่แนวคิดนี้ไปไม่รอด วงจึงหันไปพัฒนาแนวคิดอื่น

สุดท้ายอัลบั้มนี้ก็มาลงตัวที่แนวคิดเกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณูและสงคราม ชื่ออัลบั้ม A Thousand Suns มีที่มาจากข้อความในคัมภีร์ภควัตคีตาของศาสนาฮินดู ซึ่งกล่าวถึงดวงอาทิตย์ 1 พันดวงที่ระเบิดพร้อมกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ เจ. โรเบิร์ต โอปเปนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) เคยอ้างถึงเมื่อเห็นผลจากการทดลองใช้ระเบิดปรมาณูลูกแรก

นอกจากนี้ อัลบั้มนี้ยังใส่ถ้อยคำของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ในเพลง Wisdom, Justice, and Love และคำปลุกใจทางการเมืองที่โด่งดังของ มาริโอ ซาวิโอ (Mario Savio) ในเพลง Wretches and Kings ซึ่งเป็นเพลงที่อุทิศให้ ชัก ดี (Chuck D) จากวงฮิปฮอป พับลิก เอนีมี (Public Enemy) และเป็นเพลงที่ ไมค์ คิดว่ามีความฮิปฮอปมากที่สุดในอัลบั้ม เนื่องจากพวกเขานำเสียงกีตาร์เข้าไปดัดแปลงในคอมพิวเตอร์ ตามแบบฉบับของการทำเพลงฮิปฮอป

เพลง The Catalyst ซึ่งมีชื่ออัลบั้ม A Thousand Suns อยู่ในเนื้อเพลงด้วยนั้น เป็นเพลงที่โดดเด่นจน ลินคิน พาร์ก เลือกมาเป็นซิงเกิลเปิดตัว และยังได้รับเลือกให้เป็นเพลงประกอบเกม Gundam Extreme VS และเพลงประกอบโฆษณารายการ Surviving the Cut ของสถานีโทรทัศน์ ดิสคัฟเวอรี แชนเนล ส่วนเพลงอื่นๆ มีทั้งแนวคึกคักติดหูอย่าง Waiting for the End เพลงกรีดร้องแรงๆ กับเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกอย่าง Blackout พักยกด้วยเพลงบัลลาดที่ขึ้นต้นด้วยเสียงเปียโน Iridescent หรือเพลงอคูสติกช้าๆ The Messenger ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่พลังเสียงของ เชสเตอร์

บางเพลงในอัลบั้มนี้มีความยาวไม่มากนัก จนเหมือนเป็นเพลงเชื่อมมากกว่า เช่น The Radiance ที่มีความยาว 58 วินาที ขณะที่ Empty Spaces ยาวเพียง 18 วินาทีและประกอบไปด้วยเสียงปืนในสนามรบ ส่วนชื่อเพลง Jornada del Muerto นั้นเป็นภาษาสเปนแปลว่าการเดินทางของคนตาย เพลงนี้มีเนื้อเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นสั้นๆ แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า lift me up, let me go ซึ่งเป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ The Catalyst นั่นเอง

รายชื่อเพลงในอัลบั้ม
# The Requiem
# The Radiance
# Burning in the Skies
# Empty Spaces
# When They Come for Me
# Robot Boy
# Jornada del Muerto (Journey of the Dead)
# Waiting for the End
# Blackout
# Wretches and Kings
# Wisdom, Justice, and Love
# Iridescent
# Fallout
# The Catalyst
# The Messenger

0 ความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ผู้ติดตาม

บทความที่ได้รับความนิยม